HOTLINE: (+66)89-996-9914 | Line: @beeboxpp
japan
english
thai
feature image

ชนิดของกระดาษ

     เราทุกคนย่อมคุ้นเคยกับกระดาษเป็นอย่างดี เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเราตั้งแต่เด็กจนโต กระดาษเป็นส่วนประกอบตั้งแต่หนังสือเรียนที่อ่านสมัยเด็ก นิตยสารสำคัญในวงการในวันที่เป็นผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งแผนงานที่จะนำเสนอให้ลูกค้าในวันที่เป็นเจ้าของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษปอนด์ กระดาษอาร์ต กระดาษกล่อง หรือ กระดาษทำปก ทุกคนคงคุ้นเคยกับชื่อเหล่านี้ดี แต่วันนี้ผมจะมานำเสนอกระดาษในมุมที่ต่างไปว่าทำไมกระดาษจึงเป็นยิ่งกว่า กระดาษได้ ทำไมเจ้าของงานพิมพ์ควรเรียนรู้เรื่องกระดาษและกำหนดคุณสมบัติกระดาษที่จะ ใช้ด้วยตนเอง? ทำไมโรงพิมพ์จึงควรเสนอทางเลือกของกระดาษไว้หลายๆชนิดในมือ? ทำไมผู้ค้ากระดาษจึงยึดติดกับสินค้าเดิมๆตลอดไปไม่ได้?

     แน่นอนกระดาษก็เหมือนวัตถุดิบอย่างอื่นๆ ที่ระหว่างกระดาษต่างประเภท ต่างชนิด และต่างไลน์การผลิต ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างในหลายๆด้านขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะในการใช้งาน ท่านที่เคยมีโอกาสได้ไปดูงานพิมพ์ในยุโรปหรืออเมริกาจะเข้าใจได้ชัดเลยว่า ที่นั่นเขาใช้กระดาษที่เฉพาะเจาะจงกับงานพิมพ์แต่ละอย่างจริงๆ เช่น กระดาษ Book Paper ที่ใช้พิมพ์หนังสือ กระดาษแมกกาซีนกับนิตยสาร กระดาษ Packaging ฯลฯ ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าในหลักการผลิตแล้ว แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำกระดาษตัวหนึ่งที่ใช้ได้อย่างยอดเยี่ยมกับทุกประเภท ของงานพิมพ์ หรือถ้าทำได้ก็คงเป็นได้เพียงสินค้าโชว์ เพราะต้นทุนคงสูงเกินกว่าจะนำมาทำตลาดได้ ผู้ผลิตจึงต้องมีการตัดสินใจเลือกคุณสมบัติต่างๆ มากน้อย ต่างกันไปตามการใช้งาน ซึ่งคุณสมบัติของกระดาษที่จะเอามาแบ่งปันในวันนี้มีหลักๆ อยู่ 9 อย่างด้วยกัน
        
     1. Thickness หรือ ความหนาของกระดาษ ชื่อที่นิยมเรียกในวงการคือ Caliper มีผลอย่างมาก เพราะ การเปลี่ยนความหนาเพียงเล็กน้อยอาจมีผลทำให้รูปลักษณ์ของหนังสือ หรือ บรรจุภัณฑ์ เลี่ยนไปจากที่ต้องการ
    
     2. Grammage หรือ แกรม ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นตัวบอกความหนักของกระดาษ และยังมีผลต่อค่าความหนาอีกด้วย โดยทั่วไปแกรมที่เพิ่มขึ้นมักให้ความหนาที่มากขึ้น ผู้จัดทำหนังสือหลายรายเชื่อว่ายิ่งแกรมมากจะยิ่งดีเพราะทำให้หนังสือมีรูป เล่มหนาขึ้นดูมีราคา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักที่มากจนลำบากต่อผู้อ่าน รวมถึงราคาต้นทุนที่แพงขึ้น ปัจจุบันสำนักพิมพ์หลายแห่งจึงเริ่มสนใจการใช้ Bulkiness หรือ ความฟูมาช่วยให้เกิดความหนาขึ้นของหนังสือ โดยมีน้ำหนักแกรมเท่าเดิม ซึ่งจะกล่าวในข้อถัดไป
    
     3. Bulkiness หรือ ความฟูของกระดาษ ยิ่งกระดาษฟูเท่าไรค่าความหนาหรือ Thickness ก็จะสูงขึ้น หลักการประยุกต์ใช้คุณสมบัติข้อนี้ คือ กำหนดค่าความหนาที่ต้องการสำหรับสิ่งพิมพ์ให้คงที่ แล้วเลือกน้ำหนักแกรมที่เหมาะแล้วให้ความฟูของกระดาษเป็นตัวปรับให้ความหนา ได้ตามที่ต้องการ ยกตัวอย่าง กระดาษ Book Paper หรือ LWC+ ถ้าต้องการความหนาที่เท่ากับกระดาษปอนด์ทั่วไปที่ 70 แกรม อาจเลือกใช้กระดาษเหล่านี้ที่ 55 แกรมแล้วเลือกค่าความฟูที่ทำให้ ความหนาเพิ่มจนได้เท่า 70 แกรมของกระดาษปอนด์ ซึ่งนอกจากลดต้นทุนเพราะซื้อด้วยน้ำหนักที่เบากว่า ยังเป็นจุดขายให้ผู้อ่านพกพาสิ่งพิมพ์ดังกล่าวได้สะดวกอีกด้วย
    
     4. Brightness หรือ ความสว่างของกระดาษ ซึ่งความสว่างจะมากหรือน้อยขึ้นกับงานพิมพ์ แน่นอน ถ้าเป็นงานกราฟฟิก งานโฆษณาและงานบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางค์ ความสว่างมากจะยิ่งดูดีส่งเสริมภาพลักษณ์ได้มาก แต่งานบางอย่างเช่น หนังสือนิยาย ความสว่างที่มากเกินไปอาจทำให้ปวดตาเวลาอ่านไปนานๆได้ ความสว่างที่เหมาะสมจะช่วยถนอมสายตา ลองนึกถึงเวลามองหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับ Brightness เต็มที่นานๆ ถ้าให้เราดูหนังหรือดูรูปถ่ายอาจจะสวยสดใส แต่ถ้าให้มานั่งเพ่งตัวอักษรก็คงไม่ไหวเหมือนกัน
    
     5. Shade หรือ โทนสี กระดาษอาจมีได้หลายโทนสี ที่นิยมคือ โทนสีขาวนวล กับ โทนสีครีม ซึ่งเห็นได้ชัดในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ เช่นเดียวกันไม่เกี่ยวว่าสีครีมจะดีกว่าสีขาว ขึ้นกับควมชอบของผู้อ่านในแต่ละประเทศ หรือในหนังสือแต่ละชนิดมากกว่า
    
     6. Opacity หรือ ความทึบแสง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากอันดับต้นๆ สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือและนิตยสาร Opacity ที่สูงจะทำให้ไม่เกิดอาการรำคาญเวลาอ่าน เนื่องจากแสงจากอีกฝั่งทะลุผ่านเข้ามาได้น้อย ทำให้ไม่เห็นตัวอักษรสะท้อนจากอีกฝั่งของกระดาษ
    
     7. Stiffness หรือ ความแกร่งของกระดาษ มีความสำคัญในงานบรรจุภัณฑ์อย่างมาก สิ่งสำคัญขึ้นอยู่กับว่าจะบรรจุสินค้าประเภทไหน ต้องรับน้ำหนักแค่ไหน ความแกร่งไม่ได้ขึ้นกับแกรมเสมอไป ปัจจัยสำคัญอยู่กับกระบวนการผลิตและความชำนาญของแต่ละโรงงาน ความแกร่งยังมีผลในสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารด้วย โดยเฉพาะกับกระดาษแมกกาซีน ถ้าแกร่งน้อยจะทำให้กระดาษขาดง่าย ถ้าสังเกตนิตยสารดังๆ จากต่างประเทศ กระดาษจะดูบางมากๆ แต่ก็ถูกฉีกขาดได้ยากมากๆเช่นเดียวกัน ก็เพราะความแกร่งที่มีมากตามไปด้วย
    
     8. Smoothness หรือ ความเรียบของกระดาษ แน่นอนว่าโดยทั่วไป กระดาษยิ่งเรียบมาก งานก็จะยิ่งสวย กราฟฟิกก็จะยิ่งงดงาม และลูกค้าก็จะยิ่งรู้สึกดี แต่ต้องอย่าลืมว่าราคาก็จะสูงตามไปด้วย หรืออาจมีคุณสมบัติอื่นๆที่ถูกลดคุณภาพลงในกรณีที่ราคาเท่าเดิม
    
     9. Surface หรือ ผิวหน้าของกระดาษ มีหลายแบบจะเป็นแบบด้าน (Matt) หรือ แบบมันเงา (Glossy) หรือ ขึ้นกับความต้องการใช้งาน บางคนอาจต้องการกระดาษด้านเพื่อพิมพ์กราฟฟิกแบบให้ขึ้นมันเน้นความแตกต่าง ระหว่างกราฟฟิกกับฉากพื้นหลัง บางคนชอบกระดาษด้านเพราะดูนุ่มๆแบบคลาสสิก บางคนชอบกระดาษมันเงาเพราะดูหรูมีระดับ หรือ บางคนชอบกระดาษแบบไม่เคลือบ (Uncoated) เพราะจับแล้วได้สัมผัสเนื้อกระดาษจริงๆดูเป็นธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ ความชอบ และรสนิยมที่ต่างกันไป